คบเพลิง


จึงเป็นคำถามที่คำตอบอาจอยู่แต่ในสายลม-ถึงที่สุดแล้ว ประชาชนเป็นใหญ่จริงหรือ กับระบอบประชาธิปไตยในบ้านเมืองเรา ย้อนหลังจากวันนี้ไป 101 ปี ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2452 วีรบุคคลผู้ที่เหมือนว่าหน่วยงานเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยไม่อยากจะจดจำจารึกไว้ให้เยาวชนเรียนรู้ ถือกำเนิดเกิดขึ้นบนแผ่นดินอีสาน บุคคลผู้นั้นชื่อ "เตียง ศิริขันธ์"

ด้วยชีวิตวัยเยาว์ในบ้านเกิดจังหวัดสกลนคร เตียง ศิริขันธ์ได้รับการส่งเสริมจากบุพการีให้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับตนเอง จนสามารถเรียนจบประกาศนียบัตรสูงสุดสำหรับครู หรือครู ป.ม.จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในเวลาต่อมาได้เข้าทำงานเป็นครูสมดังปรารถนา


แต่แล้วเพราะความคิดก้าวหน้า กล้าพูด กล้าทำ กล้ายืนหยัดต่อกับกรกับสิ่งอยุติธรรมทั้งหลาย ในที่สุดก็ถูกข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ร่วมกับเพื่อนครูอีก 2 คน เหตุเพราะเช้าวันหนึ่งมีมือมืดเอาธงแดงมีตราค้อนเคียวชักขึ้นบนยอดเสาแทนธงชาติ ซึ่งในยุคนั้นมิใช่เรื่องแปลกอะไรหากจะมีนักคิด-เขียนหัวก้าวหน้าโดนข้อหานี้ ประชาชนคนไหนที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ชอบขี้หน้าอาจถูกยัดข้อหานี้เอาง่ายๆ ถือเป็นข้อหาคลาสสิกเอาเลยทีเดียว

และนี่เองถือเป็นจุดหักเหของชีวิตครูหนุ่มไฟแรงแห่งแผ่นดินอีสานให้หันหน้าเข้าสู่แวดวงการเมือง เพราะถึงแม้ว่าศาลจะพิจารณาและพิพากษายกฟ้องแล้วก็ตาม แต่การที่ต้องถูกกล่าวหาและพัวพันกับคดีอยู่เป็นเวลายาวนาน ทำให้นายเตียงตัดสินใจเปลี่ยนเข็มชีวิตตนเข้าสู่สังเวียนรัฐสภา

ปี 2476 เดือนพฤศจิกายน ประเทศไทยมีการเลือกตั้งครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม ส่วนการเลือกตั้งโดยทางตรงของไทยครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 นายเตียงได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งในจังหวัดสกลนคร และก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดสกลนครเรื่อยมา


ด้วยความเป็นผู้แทนราษฎรหนุ่มไฟแรง มีอุดมการณ์แก่กล้า กอปรกับมีเพื่อน ส.ส.จากที่ราบสูงเหมือนกัน ร่วมทำงานเป็นทีมเวิร์ค คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี, นายจำลอง ดาวเรือง ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม และนายถวิล อุดล ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด จนได้รับสมญานาม 4 ส.ส.อีสาน ดังที่กวีซีไรต์เลือดอีสาน ไพวรินทร์ ขาวงาม ได้ประพันธ์ไว้ว่า...

ดาวหนึ่งทองอินทร์นั้น เลือดอุบล
ดาวหนึ่งเตียงเลือดสกล เลือดสู้
ดาวหนึ่งถวิลเลือดคน ร้อยเอ็ด
ดาวหนึ่งจำลองกู้ เลือดสารคาม 
(จากหนังสือ เตียง ศิริขันธ์ ขบวนการเสรีไทยสกลนคร โดย ผศ.ปรีชา ธรรมวินทร หน้า 142)

เห็นได้จากการอภิปรายในสภาปี 2487 ต่อต้านโครงการนครหลวงเพ็ชรบูรณ์และพุทธบุรีมณฑลสระบุรีของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เนื่องจาก ส.ส.อีสานทั้งสี่เห็นว่าโครงการดังกล่าวสร้างความทุกข์ยากลำบากให้กับประชาชนอย่างหนัก โดยเฉพาะโครงการย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์เพราะเมืองเพชรบูรณ์สมัยนั้นเป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยเชื้อไข้มาลาเรีย ปรากฏว่าพอสร้างไปได้ 1 ปี มีประชาชนถูกเกณฑ์ไปทำงานกว่า 100,000 คน ป่วย 14,316 คน และเสียชีวิต 4,040 คน ประชาชนที่ถูกเกณฑ์โดยได้รับสัญญาว่าจะจ่ายค่าจ้างให้วันละ 5 สตางค์ต่อวัน ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคอีสาน

พอพระราชกำหนดนี้เข้าสู่สภา ปรากฏว่า ส.ส.ทั้งสี่ได้ร่วมกันอภิปรายคัดค้านอย่างหนัก และเมื่อลงเสียงคะแนนแบบลับ เพราะส.ส.ทั้งสี่เห็นว่าหากให้ยกมือลงคะแนนอย่างเปิดเผย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอาจเกิดการกดดันเกรงใจไม่กล้ายกมือสนับสนุน ในที่สุดรัฐบาลก็แพ้ไปด้วยคะแนน 48 ต่อ 36 เสียง เป็นผลให้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องลาออก


แต่ก็นั่นแหละ การเมืองมีขึ้นมีลงตามกฎอนิจจลักษณะ หลังจากรัฐนาวาเผด็จการทหารของจอมพล ป.พิบูลสงคราม อับปางลงในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนอับปางรัฐบาลจอมพล. คนนี้ ได้นำพาประเทศเข้าร่วมจมหัวจมท้ายกับญี่ปุ่นจนหวุดหวิดเกือบต้องกลายเป็นประเทศพ่ายแพ้สงครามไปด้วย ยังดีที่ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งสมัยนั้นได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ใช้ปัญญาอย่างแยบคายกอบกู้คืนมาได้ โดยจัดตั้งองค์กรลับภายใต้ชื่อ "ขบวนการเสรีไทย" (Free Siamese Movement) และช่วงนี้นี่เองที่นายเตียง ศิริขันธ์ หรือที่ใช้ชื่อรหัสว่า "พลูโต" มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อขบวนการเสรีไทยสายอีสาน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนคร เนื่องจากได้เป็นแกนนำจัดตั้งค่ายเสรีไทยเพื่อฝึกฝนกำลังพล มีประชาชนเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ชาติครั้งนี้นับหมื่นคนจากทั่วทุกค่ายในเขตจังหวัดภาคอีสาน

ทั้งๆ ที่งานเสรีไทย เป็นงานอุดมการณ์ทำเพื่อชาติ อาจต้องยอมพลีแม้กระทั่งชีพตนเอง ไม่มีผลตอบแทนอันใด จะมีก็แต่ความภาคภูมิใจในการได้ทำงานเพื่อพิทักษ์มาตุภูมิ แต่ประชาชนทั้งชาวจังหวัดสกลนครและจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานก็พร้อมใจกันเข้าร่วม เนื่องจากทุกคนมีใจรักชาติ และส่วนหนึ่งเกิดจากศรัทธาต่อนายเตียง ศิริขันธ์ผู้เป็นบุคคลต้นแบบเรื่องความเสียประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประเทศชาติ ดังที่คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร (ภรรยาของจำกัด พลางกูร ผู้เดินทางไปประเทศจีนเพื่องานเสรีไทยและเสียชีวิตในระหว่างเดินทาง) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า...


"...ตอนนั้นคุณเตียงให้คุณนิวาศน์ ถอดเครื่องประดับทั้งหมด มีสายสร้อย ล็อกเกต แหวน รวมทั้งแหวนของตัวเองด้วย มอบให้จำกัดเผื่อว่าจะไปตกทุกข์ได้ยาก เพราะการเดินทางนั้นมืดมนเต็มที ญี่ปุ่นอยู่เต็มไปหมด ดิฉันเชื่อว่าถ้าคุณเตียงรู้ตัวก่อนนั้น คงจะรวบรวมเงินทองให้จำกัดอีกเป็นแน่ และของเหล่านี้ (จำกัดเขียนไว้ในสมุดบันทึก) ว่าได้ช่วยเขาอย่างมากจริงๆ..." (จาก คำเกริ่นนำโดย ฉลบชลัยย์ พลางกูร ในหนังสือ เตียง ศิริขันธ์วีรชนนักประชาธิปไตย ขุนพลภูพาน โดย ศ.วิสุทธ์ บุษยกุล หน้า 17)


พลพรรคเสรีไทยภาคอีสานจากค่ายต่างๆ ฝึกฝนพัฒนาตนแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ โดยได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทธปัจจัยจากประเทศสัมพันธมิตร แม้ว่าสุดท้ายแล้วญี่ปุ่นกลับประเทศฝ่ายอักษะ จะประกาศยอมแพ้สงครามเสียก่อนที่กองทัพเสรีไทยได้สำแดงพลังต่อสู้ให้ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก แต่ถึงกระนั้น ด้วยอุดมการณ์อันสูงส่ง แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน มีหลักฐานทั้งด้านเอกสารและกำลังพลเพียบพร้อม สามารถอ้างเป็นหลักฐานให้ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อว่าประเทศไทย ไม่ใช่พวกเดียวกับญี่ปุ่น ดังคำสุนทรพจน์ของ "รูธ" ที่ได้กล่าวในพิธีสวนสนามกองทัพเสรีไทยท่อนหนึ่งว่า

"...เสรีไทยมิใช่ผู้ที่อยู่ใต้ครอบครองของญี่ปุ่น ความหมายก็คือไทยที่เป็นเสรีไทยทั้งหลายที่ต้องการให้ประเทศของตนเป็นอิสระ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ต่างประเทศรับรองการกระทำของผู้ที่อยู่ในต่างประเทศ หาใช่คณะหรือพรรคการเมืองไม่ ส่วนองค์การต่อต้านภายในประเทศนั้น ในชั้นเดิมไม่มีชื่อเรียกองค์การว่าอย่างไร การชักชวนให้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2488 เป็นต้นมา ก็ชักชวนต่อต้านญี่ปุ่นให้พ้นประเทศ และเมื่อองค์การภายในและภายนอกประเทศติดต่อกันแล้วในชั้นหลัง สาส์นที่เจ้าหน้าที่ต่างประเทศได้มีมายังข้าพเจ้า เรียกขานองค์การที่เราร่วมงานระหว่างคนทั้งภายในและภายนอกนี้ว่า Free Siamese Movement หรือขบวนการเสรีไทย เป็นนามสมญาที่ควรยอมรับ ข้าพเจ้าก็ได้ถือเอานามนี้โต้ตอบกับต่างประเทศโดยใช้นามองค์การว่า องค์การขบวนเสรีไทย...." (จากหนังสือเตียง ศิริขันธ์ ขบวนการเสรีไทยสกลนคร โดย ผ.ศ.ปรีชา ธรรมวินทร หน้า 132)


หลังจากอุทิศชีวิตเป็นแกนนำจัดตั้งเสรีไทยสายอีสาน ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงจากท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่ง นายเตียง ศิริขันธ์ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ร่วมกันนำพาประเทศผ่านพ้นมรสุมครั้งใหญ่มาได้ พบกับช่วงวันฟ้าใสในหน้าที่การงาน บำเพ็ญประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ได้เป็นรัฐมนตรีหลายสมัย ตั้งแต่รัฐบาลทวี บุณยเกตุ รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ 1, 2, 3 และรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 1, 2, 3, 4 มีผลงานเด่นๆ มากมาย เป็นต้นว่าได้ก่อตั้ง "สันนิบาตแห่งเอเชียอาคเนย์" (Union of Southeast Asian) ซึ่งก็คือที่มาขององค์การ "อาเซียน" ในปัจจุบัน


แต่สุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องชะงักงันเมื่อกลุ่มอำนาจนิยม-อนุรักษนิยมทำการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤษภาคม 2480 คณะกลุ่มโจรปล้นประเทศพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดขั้วอำนาจเก่าสายท่านปรีดี พนมยงค์ โดยเอา "กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8" เป็นข้ออ้างมาบ่อนทำลาย สร้างความชอบธรรมในการล้มล้างศัตรูทางการเมือง เข้ากุมอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นผลให้ท่านปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ 4 ส.ส.อีสานถูกโจรในเครื่องแบบวิสามัญฆาตกรรมทางเมืองอย่างโหดเหี้ยมป่าเถื่อนที่ทุ่งบางเขน นาย เตียง ศิริขันธ์ต้องหลบหนีเข้าป่าภูพาน และถูกยัดเยียดข้อหา "กบฏแบ่งแยกดินแดน" ในที่สุด และนายเตียงได้ฉายา "ขุนพลภูพาน" ก็จากการต่อสู้กับอำนาจรัฐครั้งนี้


ข่าวสหายรักร่วมอุดมการณ์ทั้งสี่ที่ถูกอำนาจสามานย์ทำร้ายปลิดชีวิต ทำให้นายเตียงเจ็บปวดขมขื่นเป็นอย่างมาก ถึงขนาดได้บันทึกไว้ว่า...
"...การตายของพวกนาย ทำให้เราเศร้าใจและว้าเหว่มาก แต่เมื่อนึกถึงการตายในสภาพเดียวกันของนักการเมืองและบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกหลายคนก็พอจะทำให้เราคลายความขมขื่นลงไปบ้าง ส่วนด้านประชาชนแล้วรู้สึกว่าจะเป็นเรื่องทำลายขวัญกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประชาชนชาวอีสานการตายของพวกนายมิใช่เป็นการหลู่เกียรติกันอย่างเดียว แต่เป็นการท้าทายประชาชนชาวอีสานทั้งมวล...ถึงแม้พวกนายจากไปแล้วก็ตาม เรายังคงยึดมั่นในอุดมการณ์สละชีพอยู่อย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ชีวิตและความเป็นอยู่ของเราขณะนี้ ทั้งในด้านส่วนตัวและการเมือง ตกอยู่ในสภาวะที่เลวร้ายที่สุด มันเป็นอุปสรรคอันสำคัญยิ่งที่เราไม่สามารถปฏิบัติงานใดๆ ได้ดังปรารถนา ถ้าหากว่าเรามีอิทธิพลทางการเมืองขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นเราจะดำเนินงานตามอุดมคติของเราทันที" (จากข้อความปกหลังหนังสือ เตียง ศิริขันธ์ ลับสุดยอดเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทย โดย สวัสดิ์ ตราชู)


แต่แล้วผลสรุปจบสุดท้ายของชีวิตขุนพลภูพาน-เตียง ศิริขันธ์ ผู้ยอมพลีทำเพื่อประเทศชาติ หลังจากเข้ามอบตัวเพื่อต่อสู้ตามขบวนการกฎหมาย นั่นคือ ถูกสังหารโหดจากน้ำมือโจรในเครื่องแบบ โดยลวงไปฆ่าหักคอที่พระโขนงแล้วเอาศพไปเผาอำพรางแถวป่าเมืองกาญจน์ ถือเป็นการปิดฉากบทบาททางการเมืองของขุนพลภูพาน-เตียง ศิริขันธ์ อดีตผู้นำเสรีไทยสายอีสานอย่างนิรันดร์


ดังนั้น เส้นทางและเวลาของชีวิตนายเตียง ศิริขันธ์ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่พาดพิงเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คู่ควรเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของการทำงานใต้ดินเพื่อกอบกู้เอกราชให้กับประเทศชาติ รอดพ้นจากการเป็นประเทศพ่ายแพ้สงคราม และในแง่ของสัจจะที่ว่ารัฐประหารไม่เคยให้อะไรแก่ระบอบประชาธิปไตย แก่ประชาชน นอกเสียจากอำนาจเพื่อผู้หิวกระหายอำนาจเท่านั้น 


บัดนี้ แม้ประเทศไทยจะเดินทางผ่านพ้นช่วงวันเวลาที่นายเตียง ศิริขันธ์ มีบทบาทชีวิตทางการเมืองมานานแล้ว แต่ทว่ายังมีบางสิ่งบางอย่างไม่เคยห่างหายจากไป เราเคยสูญเสียประชาธิปไตยให้กับเผด็จการรัฐประหารอย่างไร วันนี้รัฐประหารยังคงมีอยู่เช่นเดิม ยังคงเป็นชนวนให้เกิดการร้าวฉานของคนในประเทศ และสิ่งที่ตามมาคือความสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนผู้รักในระบอบประชาธิปไตยอยู่เหมือนเดิม

ถึงที่สุดแล้ว...จึงยังคงมีคำถามที่คำตอบอาจอยู่แต่ในสายลมเท่านั้น-ประชาชนเป็นใหญ่จริงหรือ กับระบอบประชาธิปไตยในบ้านเมืองเรา

One Response so far.

  1. ไม่ระบุชื่อ says:

    Emperor Casino | Shootercasino.com
    It 카지노 is the 메리트카지노 largest and best casino in 제왕 카지노 the United States of America. We welcome you to take part in some of the hottest online gaming competitions around!