คบเพลิง

ธงชาติพม่า

โลกใบนี้แบ่งออกเป็นประเทศน้อยใหญ่นับได้ประมาณ 193 ประเทศ (ยังไม่รวมประเทศเกิดใหม่ที่จะตามหลังมาอีกหลายประเทศ) แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะเอ่ยถึงในหน้านี้ หากแต่มีคำถามหนึ่งเกิดขึ้นเสมอ ๆ ว่าเรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นคือ ประเทศพม่า (Burma หรือ Myanmar) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เมียนม่าร์ กันมากน้อยแค่ไหน


อองซาน ซูจี

เมื่อพูดถึงประเทศพม่าหลาย ๆ ท่านคงจดจำได้เพียงแต่ในตำราประวัติศาสตร์ นึกภาพย้อนไปตั้งแต่สงครามรบพุ่งสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2310 ในสมัยพระเจ้าเอกทัศแห่งอาณาจักรอยุธยา  และพระเจ้ามังระแห่งอาณาจักรพม่า มาจนถึงการกอบกู้เอกราชคืนจากพม่าของพระเจ้าตากสินมหาราช และครั้งสุดท้ายในสมรภูมิสงครามเก้าทัพสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

เด็กหญิงชาวพม่า

นอกจากนั้นแล้ว เรารู้จักประเทศนี้ (พม่า) เพียงไร ? ราวกับประเทศนี้ตั้งอยู่คนละซีกโลก เป็นเมืองลี้ลับในตำนานอันสาบสูญก็ไม่ปาน มิหนำซ้ำยังมีข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิต  ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเป็นอยู่อย่างน้อยมาก ยังไม่รวมถึงภาพที่มีทั้งหมดที่พอจะหาได้จากเว็บไซต์ อินเทอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงได้อย่างจำกัด

การปฏิวัติชายผ้าเหลือง

ตลอดจนข่าวสารความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงในประเทศพม่าที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย การปฏิวัติชายผ้าเหลือง สงครามระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายในประเทศพม่า ไปจนถึงการกักขังตัวนางอองซาน ซูจี ทั้งหมดเหล่านี้นับว่าเป็นความอ่อนด้อยของข้อมูลที่สามารถจะศึกษาค้นคว้าประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตใกล้เคียงกับประเทศไทยทางสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือระหว่างประเทศ หรืออีกชื่อเรียกหนึ่ง คือ ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาประวัติความเป็นมาของประเทศสมาชิกทุกประเทศ ให้เกิดเป็นความเข้าใจอันดีต่อกันอันจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีตามมาในการพัฒนาภูมิภาคนี้ร่วมกัน

Categories: